แรงบันดาลใจ:การปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สตีฟ จ็อบส์

แรงบันดาลใจ:การปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สตีฟ จ็อบส์

แรงบันดาลใจ:การปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สตีฟ จ็อบส์

มาตามหาแรงบันดาลใจ ด้วยบทความนี้กันครับ เป็นการปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สตีฟ จ็อบส์ เราลองมาฟังคนที่ยิ่งใหญ่ในไอที สตีฟ จ็อบส์ ปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน ผมเลยเอาคลิปวิดีโอและบทความที่พูดถึงการปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน ของ สตีฟ จ็อบส์

จากเว็บไซต์ไหนนั้นผมจำไม่ได้ ต้องขอโทษด้วยครับ แต่ถ้าลอง Serch ใน google ว่า “ปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สตีฟ จ็อบส์” ก็จะพบว่ามีเนื้อหามากกว่า 1) ซึ่งบทความนี้ถูกถอดความโดย : กิตติ สิงหาปัด ซึ่งถอดมาจาก นิตยสาร Fortune ฉบับ September 5, 2005 ฟอร์จูน

โดยมีความว่า
ผมรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้มาร่วมในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกับพวกท่านในวันนี้ ความจริงที่คนรู้กันทั่วไปก็คือ ผมไม่จบปริญญาครับ จะว่าไปแล้วการมาที่นี่ในวันนี้ถือว่าทำให้ผมได้อยู่ใกล้กับคำว่าได้ปริญญามากที่สุด วันนี้ผมอยากจะบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตผมให้ฟัง สามเรื่อง เป็นแค่เรื่องของชีวิตผมเองเท่านั้นจริง ๆ นะครับ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร

เรื่องแรก… เป็นเรื่องของการมองเส้นทางเดินของชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งมันเป็นคล้าย ๆ การต่อเชื่อมจุดให้เป็นรูปร่าง ผมดรอปจากมหาวิทยาลัย Reed หลังจากเข้าเรียนได้เพียง 6 เดือน แต่ก็ยังเตร็ดเตร่อยู่ในมหาวิทยาลัยอีก 18 เดือน ก่อนที่จะออกมาจริง ๆ ถามว่าทำไมผมถึงดรอป บางทีเรื่องนี้อาจจะเริ่มมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป แม่ของผมเป็นสาวรุ่นที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและไม่ได้แต่งงาน เธอตั้งใจว่าจะยกผมให้คนที่ต้องการเด็กรับไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม เธอมีเงื่อนไขในใจที่ค่อนข้างแรงกล้าว่า จะยกผมให้กับคู่สามีภรรยาที่ต้องจบมหาวิทยาลัยเท่านั้น ตอนแรกผู้ที่จะรับผมไปอุปการะนั้นเป็นคู่ของทนายความกับภรรยา แต่ปรากฏว่าตอนผมคลอดนั้น ทั้งสองก็เกิดเปลี่ยนใจกะทันหันว่าอยากได้เด็กผู้หญิง ผมก็เลยมาเป็นลูกของพ่อแม่ผมในขณะนี้ ตอนนั้นท่านทั้งสองอยู่ในรายชื่อถัดไปที่ต้องการรับเด็กไปเลี้ยง พอคู่ของทนายปฏิเสธ ก็เลยมาถึงคิวของท่าน แต่ปัญหาก็คือ..พ่อแม่ผมไม่ได้จบมหาวิทยาลัยในหนแรก แม่ผมจึงไม่ยอม แต่สุดท้ายก็ยอมเพราะพ่อแม่ผมให้สัญญาว่าจะส่งผมเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อผมโตขึ้นอย่างแน่นอน

17 ปีต่อมาผมก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยจริง ๆ แต่ผมดันไปเลือกมหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมแพงพอ ๆ กับ ที่นี่ ด้วยเงินเก็บของพ่อแม่ผมซึ่งท่านก็เป็นคนระดับทำงานธรรมดา หมดไปกับค่าเทอมของผม หกเดือนในมหาวิทยาลัยผมมองไม่เห็นว่า มันจะคุ้มกับค่าเล่าเรียนยังไง ผมไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี และมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ให้ทางออกกับผม ผมใช้เงินที่พ่อแม่สะสมมาทั้งชีวิตหมดไปในหกเดือนที่ Reed ในที่สุดผมตัดสินใจดรอปโดยมั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้น จริง ๆ ตอนนั้นผมก็ค่อนข้างกลัว แต่เมื่อมองกลับไป การตัดสินใจดรอปเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต การดรอปทำให้ผมไม่ต้องเรียนวิชาบังคับที่ผมไม่ชอบ แต่ในขณะเดียวกันกลับทำให้ผมได้เข้าเรียนวิชาที่ผมสนใจ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งหมดนะครับ ผมไม่มีหอพัก ต้องสิงในห้องของเพื่อน ผมต้องเก็บกระป๋องโค้กไปคืนที่ร้านเพื่อเอาเงินมัดจำกระป๋องละ 5 เซ็นต์ ไปซื้อข้าวประทังชีวิต และทุก ๆ วันอาทิตย์ผมต้องเดินข้ามเมืองถึง 7 ไมล์ เพื่อที่จะได้กินอาหารดี ๆ ซักมื้อที่โบสถ์พราหมณ์ และมีหลายอย่างที่ผมอาจจะก้าวพลาดไปโดยบังเอิญเพราะความอยากรู้อยากเห็น หรือโดยสัญชาตญาณ ได้ให้บทเรียนที่มิอาจประเมินค่าได้กับผม ผมอยากจะยกตัวอย่างให้ฟังซักเรื่อง มหาวิทยาลัย Reed ในตอนนั้นอาจจะเรียกได้ว่ามีคอร์สสอนการออกแบบตัวอักษร (calligraphy) ที่ดีที่สุดในอเมริกาก็ว่าได้ ป้ายหรือโปสเตอร์ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยจะถูกออกแบบอย่างสวยงาม ผมตัดสินใจเข้าเรียนวิชานี้ เนื่องจากไม่ต้องลงเรียนวิชาปกติ หลังจากดรอปไว้ ผมได้เรียนรู้ตัวอักษร serif และ sans serif ได้รู้เรื่องการจัดวางช่องไฟ การผสมผสานตัวอักษรขนาดต่าง ๆ กัน ให้งานออกมาดูดีที่สุด มันเป็นอะไรที่บ่งบอกถึงความสวยงาม มีที่มาที่ไป และมีศิลปะแบบที่วิทยาศาสตร์ก็สอนเราไม่ได้ มันสุดยอดจริง ๆ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในชีวิตผมเลย จนกระทั่งสิบปีต่อมาเมื่อเราออกแบบคอมพิวเตอร์ แมคอินทอชเครื่องแรก นั่นแหละวิชาที่เรียนตอนดรอป ถึงช่วยได้จริง ๆ ทุกท่านคงเห็นเครื่องแมคฯ ที่มีตัวฟอนท์ที่สวยงาม นี่ถ้าผมไม่ได้ลงเรียนวิชาการออกแบบตัวอักษร (Calligraphy) ในตอนนั้นแล้ว เราก็คงไม่มีเครื่องแมคอย่างที่เราเห็นในวันนี้ และความจริงก็คือถ้าวินโดวส์ไม่ลอกเราในวันนั้น พีซีในยุคปัจจุบันก็จะไม่มีตัวฟอนท์อย่างนี้ก็ได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะผมลงเรียนวิชาคัดลายมือครั้งนั้นทีเดียวจริง ๆ แน่นอนครับว่าเราคงไม่สามารถต่อเชื่อมจุดเป็นรูปร่างได้เมื่อผมอยู่ที่ Reed แต่เมื่อตอนสิบปีผ่านไปทุกอย่างก็เห็นได้ชัด

ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่สามารถต่อจุดให้เป็นรูปร่างได้โดยการมองไปข้างหน้า เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามองย้อนหลังไป (ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงเวลาเราเชื่อมจุดเป็นรูปต่าง ๆ ถ้าเราเอากระดาษปิดจุดที่เราต่อมาแล้วเราจะต่อไปข้างหน้าไม่ถูก) ฉะนั้นขอให้เชื่อว่าจุดต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในวันข้างหน้า เราต้องเชื่อในอะไรซักอย่างไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจ ชะตาชีวิตหรือกรรม อะไรก็ได้ วิธีคิดแบบนี้ไม่ทำให้ผมผิดหวังท้อแท้ แต่กลับสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตผมมากมาย

เรื่องที่สอง… ที่จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความรักและการสูญเสียครับ ผมโชคดีที่ได้พบกับสิ่งที่ผมรักที่จะทำตั้งแต่วัยหนุ่ม วอซ (Stephen Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple) กับผมเริ่มทำคอมพิวเตอร์แอปเปิลกันที่โรงรถของพ่อแม่ผมตอนผมอายุ 20 เราทำงานกันอย่างหนัก ภายในระยะเวลา 10 ปี แอปเปิลที่เริ่มจากเราสองคนในโรงรถเติบโตขึ้น มีสินทรัพย์ถึง 2,000 ล้านเหรียญ มีพนักงานกว่า 4,000 คน เราเพิ่งสร้างคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดคือ แมคอินทอช ตอนผมเพิ่งย่างสามสิบ แต่ผมกลับถูกไล่ออก หลายคนอาจสงสัยว่าผมถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งมาได้ยังไง คือเมื่อแอปเปิลเริ่มเข้าที่และเติบโต เราก็หาคนที่เราคิดว่าเก่งมาร่วมบริหาร แรกก็ไปได้ดี แต่พอซักพัก วิสัยทัศน์เราก็เริ่มไม่ตรงกันหนักเข้าก็กลายเป็นความขัดแย้ง และในที่สุดคณะกรรมการบริหารก็เลือกข้างเขา และผมก็เป็นฝ่ายต้องออกมา เป็นการออกที่คนรู้กันทั่วไปใหญ่โต สิ่งที่เป็นหัวใจในชีวิตของผมมลายหายไป ชีวิตผมเหมือนไม่เหลืออะไรเลย ช่วงนั้นผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรอยู่หลายเดือน ผมรู้สึกว่าผมได้ปล่อยให้ความเป็นเจ้าของกิจการหลุดลอยไป ทั้ง ๆ ที่มีโอกาส ช่วงหลังผมได้พบกับ David Packard (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง HP) และ Bob Noyce (หนึ่งใน ผู้ร่วมก่อตั้ง Intel) เพื่อขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้น คนทั่วไปมองว่านี่เป็นความล้มเหลวของผม จนผมคิดจะออกจากธุรกิจไอทีนี่แล้ว แต่แล้วผมก็รู้สึกว่าเริ่มคิดอะไรบางอย่างได้ ผมยังรักในสิ่งที่ผมทำ สิ่งที่เกิดขึ้นที่แอปเปิลไม่ได้ทำให้ความรักของผมกับคอมพิวเตอร์ลดลงแม้แต่น้อย ถึงผมจะถูกปฏิเสธ แต่ผมก็ยังรักมัน ผมจึงตัดสินใจเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง

ตอนนั้นผมอาจจะยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ามามองตอนนี้ การออกจากแอปเปิลกลับถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของผม ความรู้สึกหนักอึ้งที่แบกรับไว้ว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ กลับถูกแทนที่ด้วยการที่ไม่มีอะไรต้องเสียจากการที่เป็นผู้ที่เริ่มต้นใหม่ ผมกลายเป็นคนที่จะไม่มั่นใจกับอะไรมากจนเกินไป และที่สำคัญ มันเป็นการปลดปล่อยตัวเองให้เข้าสู่ช่วงที่ถือว่ามีพลังสร้างสรรค์มากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ในช่วง 5 ปีหลังจากนั้นผมเริ่มทำบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และอีกบริษัทหนึ่งคือ Pixar และพบรักกับหญิงสาวคนที่เป็นภรรยาผมตอนนี้ Pixar ได้ผลิตหนังการ์ตูนแอนนิเมชั่นด้วยคอมพิวเตอร์เรื่องแรกของโลก คือ Toy Story และปัจจุบันนี้ Pixar ก็เป็นสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และเหตุการณ์ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็มาถึง แอปเปิลซื้อกิจการ NeXT และผมก็กลับแอปเปิล และสิ่งที่ผมสร้างไว้ที่ NeXT ก็กลายมาเป็นหัวใจของแอปเปิลในยุคฟื้นฟู และผมก็ได้แต่งงานกับ Laurene

“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าผมไม่ถูกไล่ออกจากแอปเปิล ถือว่าเป็นการให้ยาที่แรงสุด ๆ แต่ก็ถือว่าถูกกับคนไข้ บางทีชีวิตก็เล่นกับเราแรง แต่ขออย่าเสียความเชื่อมั่นศรัทธา ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ผมก้าวหน้ามาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะผมรักในสิ่งที่ผมทำ พวกคุณต้อง ค้นหาว่าคุณรักอะไร ความจริงมันก็คล้าย ๆ กับการหาแฟนซักคนนั่นแหละ จะว่าไปแล้วการทำงานนี่ถือเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตของเรา ทางเดียว ที่จะทำให้เรามีความพึงพอใจสูงสุดก็คือ การได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีความหมาย และการที่จะทำให้การทำงานที่ยิ่งใหญ่ให้ ประสบความสำเร็จก็คือ การรักในสิ่งที่ทำ …ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ก็จงค้นหาต่อไป อย่าเพิ่งหยุด คุณจะรู้ได้ด้วยใจคุณเองเมื่อ คุณค้นพบมัน และมันจะทำให้เราดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจงค้นหา ต่อไป”

เรื่องที่สาม… ที่จะเล่าให้ฟังวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย เมื่อตอน
อายุ 17 ผมอ่านเจอคำพูดของคน ๆหนึ่งพูดไว้ว่า “ ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวัน เหมือนกับเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของคุณ สักวันคุณจะดีขึ้นแน่นอน” ผม ประทับใจมาก และตลอด 30 ปีตั้งแต่นั้นมา ผมจะมองกระจกและถามตัวเอง ทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมอยากทำอะไร และวันนี้จะทำอะไรบ้าง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คำตอบออกมาว่า ไม่รู้จะทำอะไรติดต่อกันหลาย
ๆ วัน ผมรู้ว่าผมต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว

การระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องตายเร็ว ๆ นี้เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด ที่ผมใช้ในยามต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต เพราะเกือบจะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังต่าง ๆ จากคนภายนอก ความภาคภูมิใจ การกลัว การเสียหน้า หรือ ล้มเหลว ล้วนแต่ไม่เป็นสาระทั้งสิ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับความตาย มันทำให้เรานึกถึงแต่สิ่งที่เป็นแก่น เป็นความสำคัญที่สุดเท่านั้น การระลึกว่า คุณกำลัง
จะตายเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะหลุดพ้นจากความคิดที่กลัวการสูญเสียอะไร บางอย่าง ชีวิตคุณมีแต่ตัวนี่ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุอะไรที่ไม่เดินตามความฝันของตัวเอง

เมื่อปีที่แล้วผมไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง หมอทำสแกนผมราว เจ็ดโมงครึ่ง และเห็นชัดว่ามีก้อนเนื้อที่ ตับอ่อน ผมเองไม่รู้แม้กระทั่งว่าตับอ่อน คืออะไร หมอบอกว่าเท่าที่ดูแล้วค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่มีทางรักษา และบอกว่าผมน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 3-6 เดือน หมอ แนะนำว่าให้กลับบ้านและจัดการอะไรต่าง ๆ ให้เรียบร้อย พูดแบบชาวบ้านก็คือ หมอบอกให้ไปเตรียมตัวตายนั่นเอง มันหมายความว่าคุณ ต้องรีบคุยกับลูกในสิ่งที่คุณคิดว่าจะคุยในอีกสิบปีข้างหน้า หมายความว่าต้องเตรียมสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้ครอบครัวเมื่อคุณต้องจากไป และ หมายความความว่าคุณต้องลาโลกนี้ไปแล้ว

ผมอยู่กับความรู้สึกว่าเป็นมะเร็งและต้องตายเร็ว ๆ นี้ทั้งวัน จนกระทั่งตอนเย็นหมอต้องตัดเอาเนื้อเยื่อเพื่อวิเคราะห์อีกครั้ง หมอใช้กล้องส่อง ภายในสอดผ่านลำคอ ผ่านกระเพาะ ลงลำไส้เล็ก และใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะก้อนเนื้อเล็ก ๆ ในตับอ่อนออกมาตรวจ ตอนนั้นผมถูกวางยางสลบอยู่ แต่ภรรยาผมบอกภายหลังว่า เมื่อหมอตรวจเนื้อเยื่อผ่านกล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่งก็พบว่า ผมเป็นมะเร็งแบบที่พบได้น้อยมากคือ เป็นชนิดที่ รักษาได้ด้วยการผ่าตัด และผมก็เข้ารับการผ่าตัดรักษาจนหายดีแล้วในตอนนี้

นี่ถือว่าเป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดของผม และผมก็หวังว่ามันจะรักษาสถิติที่ใกล้ที่สุดไปอีกหลายสิบปีข้างหน้าด้วย การที่ผมผ่าน ช่วงเวลานั้นมาได้ก็ทำให้ผมเล่าให้พวกคุณฟังได้อย่างเต็มที่ไม่ใช่เพียงแค่ ความคิดเชิงหลักการอย่างเดียว ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ แม้แต่คนที่อยากไปสวรรค์ก็ไม่ต้องการตายเพื่อที่จะไปถึงที่นั่น แต่ ทุกคนต้อง ตายครับ ไม่มีใครหลีกพ้นความตายได้ และมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้นเพราะผมถือว่า ความตายน่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของชีวิต ความตายทำให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง มันเป็นการกำจัดคนเก่าเพื่อเปิดทางให้คนใหม่ ตอนนี้คนใหม่คือพวกคุณทั้งหลาย และจะค่อย ๆ แก่ไปในที่สุดและจะถูกกำจัดไป ขอโทษที่ผมอาจจะพูดอะไรที่เป็นนิยายไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงนะครับ

ชีวิตของพวกคุณมีจำกัดครับ จงอย่าเสียเวลาใช้ชีวิตอยู่บนชีวิตของคนอื่น อย่าตกอยู่ในหลุมพรางของความเชื่ออะไรบางอย่าง ซึ่งทำให้เรา ดำรงชีวิตอยู่บนความคิดของคนอื่น อย่าให้ความคิดของคนอื่นมากดความต้องการที่แท้จริงภายในใจของเรา สิ่งที่สำคัญนะครับ จงมีความกล้าหาญที่จะก้าวเดินตามสิ่งที่หัวใจเราเรียกร้อง ซึ่งตอนนี้อาจจะรู้แล้วว่าคุณต้องการเป็นอะไร อย่างอื่นเป็นเรื่องรองทั้งสิ้น

ตอนผมหนุ่ม ๆ มีสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า The Whole Earth Catalog ซึ่งได้รับความนิยมมากในยุคนั้น คนที่ทำมันขึ้นมาชื่อ Stewart Brand ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนี่เท่าไหร่ คือที่ Menlo Park ใน Whole Earth Catalog มีบทกวี ดี ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเยอะ ตอนนั้นเป็นช่วงปลาย ทศวรรษ 1960 ก่อนที่จะมีพีซี เพราะฉะนั้นนิตยสารนี้จึงทำขึ้นด้วยพิมพ์ดีดมือ กรรไกร และกล้องโพลารอยด์ มันก็คล้าย ๆ กับ Google ฉบับหนังสือนั่นแหละ คือเกิดก่อน Google 35 ปี มันเป็นอะไรที่อุดมคติ มีคำสอน ข้อคิดเตือนใจดี ๆ มากมาย

Stewart ออก Catalog หลายฉบับแต่ทุกอย่างก็ย่อมมีจุดสิ้นสุด มาถึงฉบับสุดท้ายเมื่อราวกลาง ทศวรรษ 1970 ซึ่งตอนนั้นผมก็อายุเท่า ๆ กับพวกคุณนี่แหละ ในปกหลังของฉบับสุดท้ายนี่เป็นรูปถ่ายถนน ในชนบทยามเช้า เป็นภาพที่หลายคนคงเคยสัมผัส ถ้าเผื่อเป็นคนที่ชอบเดินทาง ท่องเที่ยว ด้านล่างของภาพเขียนว่า “Stay Hungry. Stay Foolish” มันเป็นเหมือนการกล่าวอำลาของพวกเขาด้วย “จงเป็นคนที่หิวอยู่เสมอ จงเป็นคนที่โง่อยู่เสมอ” เป็นสิ่งที่ผมใช้เตือนตัวเองตลอดเวลา และในโอกาสที่พวกคุณจะจบการศึกษาออกไปเผชิญโลกกว้าง ผมขอให้พวกคุณ จงเป็นคนที่ Stay Hungry และ Stay Foolish ..

ขอบคุณครับ

ปล. ต้องขอขอบคุณ พี่กิตติ สิงหาปัด ที่ถอดบทความได้ดีมาก หลังจากที่ผมฟังและอ่านเกี่ยวกับ การปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ของ สตีฟ จ็อบส์ ทำให้ผมมีมุมมองที่แตกแขนงไปเหมือนกับรากต้นไม้ ขนาดนั้นจริงๆนะครับ..